การทำกิจกรรมเพื่อสังคมในกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ในประเทศไทย มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นก้าวเข้ามาก่อตั้งโรงงานในประเทศไทยแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ.2503 จนต่อมาสังคมไทยได้ให้ความนิยมผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ อย่างแพร่หลาย เมื่อบริษัทฯ ได้ผลกำไรจากกิจการ ก็ยังคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อพนักงาน ประชาชน และสังคมไทยโดยส่วนรวม โดยได้เฉลี่ยผลกำไรส่วนหนึ่งกลับไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม อาทิเช่น บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศล บริจาคเงินให้กิจการของสภากาชาดไทย และโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น ความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ บริษัทฯ ถือเป็นหน้าที่สำคัญไม่น้อยกว่าความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและพนักงานของบริษัทฯ เอง เพราะยังมีประชาชนอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ดังนั้นความคิดที่จะตั้งมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะจึงเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 แต่การจัดตั้งในขณะนั้นยังไม่สามารถทำได้ จึงได้ดำเนินกิจกรรมตอบแทนสังคมภายใต้รูปแบบกิจกรรมของบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ. 2519
จุดเริ่มต้น “มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ”
ต่อมา บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจและมีผลกำไรจากการดำเนินกิจการมากขึ้น การทำธุรกิจยังคงควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม และการบำเพ็ญกุศลด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีบุคคลคนไทยได้ชี้แนะให้มีการจัดตั้งมูลนิธิฯ ฝ่ายญี่ปุ่นทั้งในบริษัทฯ ที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น และบริษัทฯ ในประเทศไทยต่างเห็นชอบด้วย ประกอบกับในขณะนั้นการจัดตั้งมูลนิธิฯ สามารถทำได้แล้วจึงได้ดำเนินการจนได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อตั้ง “มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ” ขึ้นเมื่อ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 โดยได้รับทุนดำเนินการเริ่มแรกจาก บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนเงิน 2 ล้านบาท
พ.ศ. 2519
ต่อมาบริษัทแม่จากประเทศญี่ปุ่น ได้บริจาคเงินให้มูลนิธิฯเพิ่มเติม เพื่อไปซื้อหุ้นของบริษัทในประเทศไทยจำนวน 40,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 6,800,000 บาท โดยเริ่มต้นนั้นมูลนิธิฯ ได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.พิชัย กุลละวณิชย์ มาเป็นประธานฯ และได้เชิญท่านอดีตรัฐมนตรีและท่านผู้มีเกียรติอีกหลายท่านให้มาเป็นกรรมการบริหารรวมทั้งสิ้น 12 ท่าน
พ.ศ. 2519 – 2528
บริจาคเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การศึกษา เครื่องกีฬาและเวชภัณฑ์อนามัยประจำโรงเรียน
คณะกรรมการของมูลนิธิฯ มีความเห็นว่า การประถมศึกษาเป็นพื้นฐานของการศึกษาโดยทั่วไปของเด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา โดยส่วนมากจะเป็นเด็กขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามต่างจังหวัด ทางมูลนิธิฯ จึงได้ตั้ง โครงการบริจาคเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การศึกษาและเครื่องกีฬาให้กับนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาที่ขาดแคลนทั่วประเทศ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา โดยมีโรงเรียนและจำนวนเด็กนักเรียนที่ได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึง พ.ศ. 2528 จำนวน 1,509 โรงเรียน คิดเป็นจำนวนนักเรียน 175,024 คน จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,820,953.54 บาท
พ.ศ. 2524 – 2530
ริเริ่ม “โครงการอาหารกลางวัน”
จากการดำเนินโครงการบริจาคเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาที่ผ่านมา คณะกรรมการได้เล็งเห็นว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีอาหารกลางวันรับประทาน ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายขาดความเจริญเติบโต มีการพัฒนาทางสมอง อารมณ์และสติปัญญาต่ำ อันเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวม คณะกรรมการมูลนิธิฯ จึงเห็นควรที่จะใช้ความช่วยเหลือจัดตั้งโครงการอาหารกลางวันขึ้น โดยในปี พ.ศ.2524 ได้เริ่มต้นโครงการนี้ โดยบริจาคเงินให้โรงเรียนประถมศึกษา 5 โรงเรียนๆ ละ 20,000 บาท ไปทดลองทำโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งทางโรงเรียนได้นำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนทางด้านเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา แล้วนำผลผลิตที่ได้มาหมุนเวียนประกอบอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน จากการทดลองดูผลทั้ง 5 โรงเรียน ปรากฎว่าได้ผลดียิ่ง มูลนิธิฯ จึงได้บริจาคเงินช่วยเหลือโครงการอาหารกลางวันตลอดมาทุกปี
การช่วยเหลือในรูปของโครงการอาหารกลางวันนี้เพิ่มขึ้นทุกปี อันเป็นการเข้าร่วมตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะรณรงค์ให้โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่ง แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ตามคำขวัญที่ว่า “ฉลอง 60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย” และเป็นการสนองตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 3 (2525-2530) ซึ่งได้เน้นถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือในด้านโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย
พ.ศ. 2528
มอบทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา
เนื่องในวาระพิเศษ ครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้ง บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ.2528 บริษัทฯ ได้บริจาคเงินจำนวน 250,000 บาท ให้มูลนิธิฯ เพื่อก่อตั้งเป็นทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แก่นิสิตนักศึกษาที่มีความสามารถในการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในสาขาวิชาโภชนศาสตร์ วิทยาศาสตร์การอาหาร และคหกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ จำนวนทุนละ 10,000 บาท จนต่อมาโครงการนี้ได้มีการเปิดโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาในการขอรับทุนเพิ่มมากขึ้น โดยการขยายระดับชั้นของการให้ทุน ทั้งในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา การขยายจำนวนผู้ได้รับทุน การปรับเปลี่ยนรูปแบบ การมอบทุนจนจบการศึกษาและเพิ่มจำนวนทุนให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเรียน การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นๆ ของมูลนิธิฯ
จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ได้รับทุนในโครงการทั้งสิ้นกว่า 300 คน ภายใต้การดำเนินโครงการที่ชื่อว่า “ทุนส่งน้องเรียนจบ”
พ.ศ.2530 – 2540
ในระดับของนักวิชาการ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ได้ร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย มอบรางวัลงานวิจัยดีเด่นในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ให้กับนักวิจัย เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้กับนักวิจัย พัฒนาผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและประยุกต์ใช้ผลงานในการพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคมไทย ซึ่งต่อมาได้ขยายโครงการมอบรางวัลให้นักวิจัยในสาขา “โภชนาการ”ร่วมกับสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ ในปี 2557 และสาขา”วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร” ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ในปี 2558 ตามลำดับ เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่อุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดี และร่วมเผยแพร่ผลงานวิจัยอันมีคุณค่าดังกล่าวสู่สาธารณชน
พ.ศ.2551 – ปัจจุบัน
มูลนิธิฯ ได้เริ่มการก่อสร้างโรงอาหารโครงการ “50 ปี 50 โรงเรียน”
เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารโรงอาหาร ให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนโรงอาหาร โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ และกระทรวงศึกษาธิการ ในการดำเนินโครงการนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2557 โดยได้ให้การสนับสนุนโรงเรียน 50 โรงเรียนใน 43 จังหวัด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 25 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2553
มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสาธารณสุขหน่วยที่เล็กที่สุด ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงลำบาก เพื่อให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับการบริการทางด้านสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่และทันท่วงที
ปี พ.ศ.2553
มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ร่วมกับ มูลนิธิทุนการศึกษาอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศญี่ปุ่นเพื่อดำเนินโครงการมอบทุนการศึกษา ภายใต้ชื่อโครงการ “Ajinomoto Scholarship for ASEAN International Students” ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าและไม่มีข้อผูกมัด เพื่อศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ปี พ.ศ.2554
มูลนิธิฯ ริเริ่มโครงการ “ออกค่าย…ได้ยิ้ม ไปกับมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ” เพื่อสนับสนุนงบประมาณการออกค่ายอาสาของนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อนำงบประมาณที่ได้ไปก่อสร้างอาคารต่างๆ ตามความต้องการและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการสนับสนุนงบประมาณให้กับค่ายอาสานั้นมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2554 และได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นอย่างเป็นทางการ และยังคงดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปีปัจจุบัน
© 2014 All Rights Reserved. By: Ajinomoto foundation 2015